บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ออกแถลงการณ์ผลการวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หนึ่งโดส
มีประสิทธิภาพสูงในการลดความรุนแรงและการเจ็บป่วยในระดับที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์เบต้าและเดลต้า
ข้อมูลการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19ในแคนาดาแสดงประสิทธิผลของวัคซีนหลังจากฉีดเข็มแรกช่วยลดการเจ็บป่วยในระดับที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและป้องกันการเสียชีวิตที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เบต้า/แกมมาได้ 82% และเดลต้าได้ 87%
ผลการศึกษาจากเครือข่ายการวิจัยการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของแคนาดา (Canadian Immunization Research Network - CIRN) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขของแคนาดาและสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ แคนาดา ซึ่งเผยแพร่ในวารสารฉบับก่อนตีพิมพ์ ได้แสดงให้เห็นว่า Vaxzevria หรือวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้า เซนเนก้าหนึ่งโดส มีประสิทธิผลสูงถึง 82% ช่วยลดการเจ็บป่วยในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือโควิด-19 สายพันธุ์เบต้า/แกมมา นอกจากนี้ ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์เดลต้า (B.1.617.2 หรือสายพันธุ์อินเดีย) และสายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7 หรือสายพันธุ์เคนท์) โดยช่วยลดอาการป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออัตราการเสียชีวิตได้ถึง 87% และ 90% ตามลำดับ1 ทั้งนี้ ผลการทดสอบประสิทธิผลของวัคซีน Vaxzevria หลังการฉีดเข็มแรกเพื่อป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตนั้น มีระดับตัวเลขที่ไม่แตกต่างกับวัคซีนอื่นๆ ที่นำมาทดสอบในการวิจัยครั้งนี้ โดยระยะเวลาในการติดตามผลยังไม่เพียงพอที่จะรายงานประสิทธิภาพของ Vaxzevria หลังการฉีดเข็มที่สอง แต่มีงานวิจัยอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สองตามคำแนะนำในการเว้นระยะเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สอง
ผลการศึกษาระบุว่าวัคซีน Vaxzevria มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยที่ไม่รุนแรง โดยเป็นการรายงานผลทดสอบหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มแรกเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อมูลหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สองเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามการเว้นระยะฉีดตามที่กำหนด โดยเป็นที่ทราบดีว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับเข็มที่สอง 2 แล้ว2 ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันอาการป่วยที่ไม่รุนแรงนั้นต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการป้องกันโรครุนแรง โดยประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการไม่ว่าในระดับใดจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์เบต้า/แกมมาอยู่ที่ประมาณ 50% และ 70% และ 72% สำหรับสายพันธุ์เดลต้าและอัลฟ่า ตามลำดับ
การทดลองในเฟสที่ 1 และ 2 ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สแรนด์ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่จำกัดในการป้องกันอาการที่ไม่รุนแรงในขั้นต้นที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เบต้า โดยการทดลองยังไม่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันอาการที่รุนแรงได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว มีสุขภาพดี และมีอาการของโรคไม่รุนแรงเท่านั้น3
เซอร์ เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) กล่าวว่า “ในขณะที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ต่างๆ กำลังคุกคามและขัดขวางหนทางในการรอดพ้นจากโรคระบาดนี้ หลักฐานจากการใช้จริงของเราได้แสดงให้เห็นว่า Vaxzevria และวัคซีนอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในแคนาดา มีศักยภาพในการป้องกันโรคโควิด-19ที่แสดงอาการรุนแรงในระดับสูงหลังจากการฉีดเพียงเข็มแรก ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างเกราะปกป้องให้กับผู้คนที่อยู่ทั่วทุกมุมโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำไปสู่การยับยั้งไวรัสที่ร้ายแรงนี้”
ผลการวิเคราะห์จากการศึกษาครั้งนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า SARS-CoV-2 รวมทั้งหมด 69,533 คน ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2020 ถึงพฤษภาคม 2021 ในรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในสายพันธุ์ที่ไม่น่ากังวลจำนวน 28,705 คน (6.8%) และในสายพันธุ์ที่น่ากังวลจำนวน 40,828 คน (9.7%)
Vaxzevria วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า (เดิมเรียก AZD1222)
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ถูกคิดค้นและพัฒนาร่วมกันโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัท วัคซีเทค ซึ่งก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในกว่า 80 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีปทั่วโลก ทั้งนี้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ากว่า 700 ล้านโดสได้ถูกส่งมอบให้แก่กว่า 170 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกว่า 100 ประเทศผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์
Comments