ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า สุนัขจรจัดที่คนให้อาหารเป็นครั้งคราว เป็นบางครั้งบางโอกาสด้วยความเมตตา รวมถึงคนที่ให้อาหารประจำ แต่ไม่ใช่ผู้รับเลี้ยงรับผิดชอบชีวิตของสุนัขจรจัด ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของสุนัขจรจัด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.764/2556) แต่ถ้าสุนัขไม่มีเจ้าของกัดคนใครต้องรับผิดชอบเมื่อหมาจรจัดไม่มีเจ้าของและจะไปบังคับคนที่เลี้ยงประจำมารับผิดชอบก็ไม่ได้ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ กรมปศุสัตว์ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีที่ อ.1751/2559 ได้วินิจฉัยไว้ว่า เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือกรมปศุสัตว์ ที่จะต้องรับผิดชอบในการจัดการดูแลสุนัขจรจัด ซึ่งสุนัขเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าพ.ศ. 2535 เมื่อสุนัขจรจัดไปทำลายทรัพย์สิน หรือรุมกัดผู้อื่นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือกรมปศุสัตว์จึงต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น ตามมาตรา 67 และ มาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ให้ราชการผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนผู้ฟ้องคดีนั้น
แต่การให้อาหารสัตว์ในที่สาธารณะเป็นครั้งคราวด้วยความเมตตาอาจถือว่า เป็นการทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยลงบนที่ หรือทางสาธารณะ มีโทษปรับไม่เกินสองพันบาท ตามมาตรา 32 แห่งพ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และหาก เข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญตาม มาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 โทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
Comments