วันที่ 2 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2564 ที่กรมสรรพากรให้ยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 นั้น ล่าสุด ทางกรมสรรพากรได้ปรับปรุงรายการการยื่นแบบแสดงรายได้ โดยเพิ่ม รายได้จากการลงทุน ตามมาตรา 40 (4)
ที่เป็น “ดอกเบี้ย เงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ ประโยชน์ใด ๆ จากคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล เงินเพิ่มทุน เงินลดทุน” เพื่อให้ผู้เสียภาษีที่มีเงินได้ประเภทนี้ได้ยื่นแสดงเงินได้ด้วย
ก่อนหน้านี้ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซีนั้น ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 กำหนดชัดเจนว่า digital asset หากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนจากส่วนนี้จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร (capital gain) และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโทฯจะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
“ถ้ามีกำไรจากการเทรดบิตคอยน์ก็เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีที่จะต้องมายื่นแบบตามมาตรา 40 (4) ซึ่งในการยื่นแบบภาษีเงินได้ในเดือน มี.ค. 2565 สรรพากรจะมีช่องให้ติ๊กสำหรับผู้ที่มีกำไรจากการซื้อขายคริปโทฯเพื่อให้ผู้เสียภาษีสำแดงเงินได้ ซึ่งหากใครมีรายได้แล้วหลบเลี่ยงไม่ยอมยื่นเรามีระบบ data analytics ตรวจสอบได้” นายเอกนิติกล่าว
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจลงทุนซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีมาก แม้จะตามเก็บภาษียาก แต่ก็เป็นเรื่องที่สรรพากรต้องตามให้ทัน ซึ่งกรมสรรพากรมีอำนาจในการออกหมายเรียกพยานได้ เช่น หากสรรพากรมีข้อมูลที่เชื่อว่าบุคคลดังกล่าวมีกำไรจากการซื้อขายคริปโทฯก็มีอำนาจบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมาให้ข้อมูลได้
นอกจากนี้ ปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่องที่จะให้ตลาดเทรดคริปโทฯทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% โดยจะเป็นการเก็บภาษีกำไรจากการขาย
“หลาย ๆ ประเทศก็เริ่มให้แพลตฟอร์มเป็นรายงานข้อมูลการซื้อขาย และเป็นผู้เก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย ส่วนของไทยก็กำลังให้ทำเป็นการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว อยู่ขั้นตอนกฤษฎีกา ตรงนี้จะออกมาเป็นกฎหมายพื้นฐานก่อน จากนั้นกรมก็จะสามารถมาออกกฎหมายกำหนดต่อได้ว่า ให้รายงานการซื้อขาย” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว
Comments