top of page

BANNER

980 x 260 px

เพียงพอทั่วประเทศ! สธ.ยืนยัน ยา "ฟาวิพิราเวียร์" ไม่มีขาดแน่นอน แต่จ่ายยาตามแนวทาง สธ.


วันที่ 26 มีนาคม นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กล่าวถึงการบริหารจัดการ ‘ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19’ ที่ยังเป็นประเด็นว่ายา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ มีไม่เพียงพอ โดยระบุว่า ตามหลักการให้ยากับผู้ป่วยโควิด-19 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำว่าให้มุ่งเน้นการจ่ายยาตามแนวทางการรักษา เพื่อให้การบริหารจัดการสถานการณ์มีประสิทธิภาพสูงสุด


นพ.กรกฤช กล่าวว่า ยาสำหรับผู้ป่วยโควิด ที่ใช้ปัจจุบันจะมี 3 สูตร คือ


1.กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย สามารถให้ยาตามอาการได้ เช่น แก้ไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก ลดไข้

2.กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางและไม่มีความเสี่ยงร่วม จะให้ยาฟ้าทะลายโจร

3.กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการและมีความเสี่ยงร่วม เช่น สูงอายุ มีโรคประจำตัว จะให้ยาต้านไวรัส เช่น ‘ฟาวิพิราเวียร์’ , ‘โมลนูพิราเวียร์’ , ‘แพกซ์โลวิด’ เป็นต้น


นพ.กรกฤช กล่าวว่า ข้อมูลที่มีการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพียง 30% หรือ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งต่างจากการระบาดช่วงสายพันธุ์ ‘เดลต้า’ ที่ทำให้มีอาการรุนแรง เราจำเป็นต้องใช้ยามาก แต่ขณะนี้เป็นสายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ อาการไม่รุนแรงมาก ดังนั้น ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะลดลง


ทั้งนี้ สธ.ต้องปรับการใช้ยาควบคู่กับศึกษาการใช้ยาต้านไวรัส ‘โมลนูพิราเวียร์’ เพื่อบริหารสถานการณ์และจัดซื้อยาตามหลักฐาน เพื่อให้งบประมาณถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


นพ.กรกฤช ย้ำว่า การให้ยาขึ้นอยู่กับแนวทางรักษา โดยยกตัวอย่างเขตสุขภาพที่ 4, 5 และ 6 มีข้อมูลศึกษาว่าคนไข้เกือบ 50% ไม่ได้รับยาต้านไวรัสและยาฟ้าทะลายโจร ส่วนอีกครึ่งที่เหลือจะแบ่งเป็น รักษาตามอาการ เช่น ยาพาราเซตามอล แก้ไข้ ยาแก้ไอ อีกครึ่งหลังจะเป็นยาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์

นพ.กรกฤช ยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเรื่องยาเต็มที่ โดยสนับสนุนยาลงไปในสถานพยาบาลตามจำนวนคนไข้ แต่เราก็เข้าใจมุมของคนไข้ ที่อยากจะรับยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ เพื่อให้อาการดีขึ้นโดยเร็ว แต่เราก็จะต้องควบคู่กับการบริหารจัดการต่างๆ ด้านงบประมาณยาเราใช้ไปรวมๆ 6 พันล้านบาท และก็ยังเตรียมไว้อีกเพื่อสนับสนุน ยืนยันว่ายาไม่ให้ขาดแคลน


ทั้งนี้ ข้อมูลคลังยาโดยประมาณ ณ วันที่ 25 มีนาคม ยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ กระจายในภูมิภาครวม 10 ล้านเม็ด และอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2-3 ล้านเม็ด


นพ.กรกฤช กล่าวอีกว่า ยา ‘โมลนูพิราเวียร์’ ที่กรมการแพทย์จัดซื้อมา 50,000 คอร์ส ราคาคอร์สละ 10,000 บาท ขณะเดียวกัน เราได้มอบให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) หายาจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมอีก เพื่อให้เกิดทางเลือก ที่สำคัญคือต้องเป็นบริษัทที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสมในการนำเข้า คาดว่าอยู่ระหว่างหารือกับบริษัทผู้ผลิตที่อินเดีย หากมีการนำเข้ามาก็คาดว่าจะตกราคาคอร์สละ 600 บาท เท่ากับยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ ซึ่งจะนำมาใช้ในผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไปได้ แต่อายุต่ำกว่า 18 ปี ก็สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


BANNER

980 x 260 px

bottom of page