top of page

BANNER

980 x 260 px

"โนรู หรือ โนตู่" 30 ก.ย.นี้ รู้กัน


วันนี้ 28 กันยายน 2565 เหลือเวลาอีกไม่กี่วันเท่านั้น เราก็จะรู้กันแล้วว่าสรุปสุดท้าย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ บิ๊กตู่ จะได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือไม่ หลังถูกพักจากการดำรงตำแหน่งชั่วคราว หรือว่าจะต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปเลย ตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะรู้ผลกันวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 นี้ คาดเวลาน่าจะไม่เกิน 16.30 น. แล้วมาลุ้นกันว่า พลเอกประยุทธ์จะได้ไปต่อ หรือจะต้องโบกมือลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป


ถ้าเกิดรอด พลเอกประยุทธ์ ก็จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังการอ่านคำวินิจฉัยเสร็จสิ้นลงทันที โดยที่ไม่ต้องรอข้ามวัน


แต่ถ้าเกิดร่วง พลเอกประยุทธ์ก็จะไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ต่อ หลัง 24 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เพราะเป็นนายกฯ มาครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158


ซึ่งวันนั้นผลจะออกมาแบบไหน เราต้องมาคอยลุ้นกัน รวมถึงต้องดูรายละเอียดของคำวินิจฉัยกลางที่จะออกมาด้วยว่าเรื่อง 8 ปีนายกฯ ตามคำวินิจฉัยของศาลตีความไว้ว่าอย่างไร


เพราะในคำร้องของฝ่ายค้านที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้แค่ว่า ผู้ร้องเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไปหลัง 24 กันยายน 2565 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสอง เพราะผู้ร้องเห็นว่าพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มาครบ 8 ปีแล้ว โดยนับตั้งแต่เป็นนายกฯ รอบแรกเมื่อปี 2557 ซึ่งในคำร้องไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการนับ 8 ปีดังกล่าวให้นับตั้งแต่เมื่อใด แต่ถ้าดูจากนัยในคำร้องของฝ่ายค้าน คือให้นับจากปี 2557 เพียงแต่ในคำร้องที่ยื่นไปต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุในประเด็นนี้ให้ศาลตีความ


ซึ่งโดยหลักปฏิบัติ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเฉพาะประเด็นในคำร้อง ที่ยื่นมา ดังนั้นจึงมีการมองกันว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตีความแบบเคร่งครัด ก็อาจวินิจฉัยว่าพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปหลัง 24 กันยายนนี้ได้หรือไม่ตามที่ร้องมา แต่จะไม่ระบุในคำวินิจฉัยว่า 8 ปีดังกล่าวนับจากเมื่อใด ซึ่งหากเป็นกรณี พลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯ แบบนี้ก็จบเลย ก็คือศาลวินิจฉัยว่า 8 ปีให้นับจากปี 2557


แต่หากผลคำวินิจฉัยออกมาใน ทางที่เป็นคุณ กับพลเอกประยุทธ์ คือ ยกคำร้อง ตรงนี้ก็ต้องดูว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญจะไปเขียนไว้หรือไม่ว่า เมื่อศาลเห็นว่า 8 ปีดังกล่าวไม่ได้นับจากปี 2557 แล้วศาลให้นับจากช่วงไหน ที่ก็จะมีได้แค่สองช่วงคือ 1.นับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 ที่หากเป็นแบบนี้ก็คือพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มาแล้ว 5 ปี ยังเป็นได้ต่ออีกร่วมๆ 3 ปี กับ 2.ให้นับจากวันที่พลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ รอบสองหลังเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือ 9 มิถุนายน 2562 โดยหากศาลตีความออกมาแบบนี้ ก็เท่ากับพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มาแล้ว 3 ปี ยังเป็นนายกฯ ได้อีก 5 ปี


แต่อย่างที่บอกไว้ โดยหลัก ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยในประเด็นที่ไม่ได้อยู่ในคำร้อง จึงมีการมองกันว่า หากสุดท้ายศาลตีความแบบเคร่งครัด โดยมีความเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ ได้ต่อ ศาลอาจบอกแค่ว่ายังเป็นนายกฯ ได้ต่อไปหลัง 24 ก.ย. แต่อาจไม่ได้บอกว่าแล้วศาลนับ 8 ปีจากช่วงไหน ตรงนี้ก็อาจจะเป็นความคลุมเคลือในข้อกฎหมายต่อไป


อย่างไรก็ตาม มีการมองกันในเชิงกฎหมายและการเมืองว่า แม้คำร้องของฝ่ายค้านจะไม่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า 8 ปีนับจากช่วงใด แต่ต้องไม่ลืมความจริงว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าพลเอกประยุทธ์จะหลุดหรือไม่หลุดจากนายกฯ ต่อให้มีคำตัดสินออกมาว่า ไม่หลุดจากนายกฯ หลัง 24 กันยายน 2565 มีการตั้งข้อสังเกตกันว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ศาลจะไม่อธิบายเหตุผล-ที่มาที่ไปของการตัดสินดังกล่าว ว่าทำไมพลเอกประยุทธ์ถึงไม่หลุดจากนายกฯ ซึ่งการอธิบายที่ดีที่สุดก็ต้องบอกว่า ที่ไม่หลุดจากนายกฯ เพราะศาลเห็นว่า การนับเวลาการเป็นนายกฯ ต้องเริ่มนับจากเมื่อใด ที่ก็หมายถึงอาจมีความเป็นไปได้ที่คำวินิจฉัยกลางอาจเขียนไว้ในบรรทัดใดบรรทัดหนึ่งถึงเรื่องนี้ว่าให้นับจากช่วงใด เช่น ให้นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 เป็นต้น โดยไม่ต้องไปเขียนไว้ในตอนท้ายของคำวินิจฉัยกลางที่เป็นมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากก็ได้


แต่ทั้งหมดก็เป็นการวิเคราะห์-คาดการณ์ ที่สุดท้ายก็ต้องดูกันว่า 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นออกมาอย่างไร สำหรับในทางการเมือง ผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมา การที่พลเอกประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ มีผลแตกต่างกันทางการเมืองค่อนข้างมาก


ถ้าหากพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ก็มีหลายเรื่องสำคัญรออยู่ เช่น การเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปกช่วง 18-19 พ.ย. 2565 รวมถึงงานบริหารทั่วไป เช่น การรับมือและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัด


ขณะที่ในทางการเมือง คาดว่าหลังพลเอกประยุทธ์กลับมา สองแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลคือ ภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ ก็อาจใช้จังหวะนี้ขอให้มีการ ปรับคณะรัฐมนตรี ที่ว่างอยู่ หลังนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จากประชาธิปัตย์ลาออกจากตำแหน่ง และกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ จากภูมิใจไทย ถูกศาลฎีกาสั่งให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกว่าศาลจะตัดสินเสร็จก็คาดว่าน่าจะกลางปีหน้า 2566 ภูมิใจไทยก็คงไม่ปล่อยให้โควตารัฐมนตรีว่างไปเปล่าๆ รวมถึงแม้แต่กับพลังประชารัฐเองด้วยที่ก็อาจขอให้มีการปรับ ครม.ในส่วนที่ว่างอยู่สองตำแหน่งมาร่วมปี นับแต่มีการปลดธรรมนัส พรหมเผ่า และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ มาตั้งแต่กันยายนปีที่แล้ว


แต่หาก พลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯ ทันที ต้องมาดูกันต่อว่าพลเอกประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร และจะยอมเป็น รมว.กลาโหมตำแหน่งเดียวโดยไม่เป็นนายกฯ ได้หรือไม่ หรือจะลาออกจาก รมว.กลาโหม เพื่อไม่ให้เกิดความตะขิดตะขวงใจภายในพี่น้อง 3 ป. และในรัฐบาล


ขณะเดียวกัน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็จะต้องเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเป็นกรณีพิเศษ เพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ และนี่จะเป็นรอยต่อ รวมถึงจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมือง ว่าพี่น้อง 3 ป.และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจะเอาอย่างไร?


เพราะเรื่องยุบสภา หลัง 30 กันยายน 2565 หากพลเอกประยุทธ์ไม่รอด ในทางการเมืองทำได้ยาก เพราะตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ อยู่ในขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญตามที่มีการยื่นคำร้องเข้ามา ที่คาดว่ากว่าจะวินิจฉัยเสร็จก็อาจเป็นช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม ทำให้หากยุบสภาจะเกิดปัญหาตามมาได้ เพราะเท่ากับจะไปเลือกตั้งโดยไม่มีกฎหมายรองรับ นอกจากใช้วิธีนำทั้งสองร่างดังกล่าวมาออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อแก้ปัญหา


ขณะเดียวกัน หากเลือกยุบสภาแล้วเป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงเลือกตั้ง จะมีปัญหาในเรื่องการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกเดือนพฤศจิกายนอีก ที่อาจจะไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้นำหลายประเทศทั่วโลกในการมาประชุมที่ไทย


ทั้งนี้จึงเห็นได้ชัด สถานการณ์ทางการเมืองไทยหลังจากวันที่ 30 กันยายน 2565 นี้ ไม่ว่าบิ๊กตู่ จะได้เป็นนายกฯต่อ หรือหลุดจากตำแหน่งนายกฯ นั้น ต่างล้วนที่จะมีผลกระทบตามมามากมายในหลายบริบท

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


BANNER

980 x 260 px

bottom of page