“ทอหูกบ่เป็นแจ ทอแพรบ่อเป็นฝาต้อน เลี้ยงม่อนบ่ฮุ้โตลุกโตนอน อย่าฟ้าววอนเอาผัว” คำผญา หรือปรัชญาในการดำรงชีวิตของชาวอีสานที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนถึงชั่วลูกชั่วหลาน ประโยคนี้แปลความได้ว่า “ถ้ายังทอผ้าไม่เป็น เลี้ยงม่อนเลี้ยงไหมไม่ได้ ก็อย่าริจะสร้างครอบครัว” คำสอนนี้สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวอีสานว่าการทอผ้าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงต้องเรียนรู้และฝึกหัด เริ่มจากผู้เป็นแม่ถ่ายทอดความรู้และวิธีการทอผ้าให้ลูกหลาน ตั้งแต่การปลูกม่อนเลี้ยงไหม คัดเส้นไหม ออกแบบลายหมี่ ให้สี จนถึงทอผ้าเป็นผืน ผ้าไหมที่ทอได้จะสวมใส่ในโอกาสสำคัญ เช่นงานบุญ หรืองานพิธี และงานมงคลต่างๆ รวมทั้งส่งต่อเป็นมรดกในตระกูลกันด้วย
หากจะนึกถึงแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็ต้องคิดถึงจังหวัดขอนแก่นในลำดับต้นๆ เพราะได้รับการประกาศรับรองจากสภาหัตถกรรมโลก - World Craft Council ( WCC) - UNESCO เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ให้จังหวัดขอนแก่น เป็น “เมืองหัตถกรรมโลก แห่งผ้ามัดหมี่” แห่งแรกในเอเชีย ซึ่งการประกาศรับรองดังกล่าวนั้นกรรมการจากหลายประเทศต้องประเมินผลการจาก ประวัติความเป็นมาของผ้าไหมมัดหมี่ การสืบทอดทางวัฒนธรรม และการเผยแพร่ภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ในช่วงเวลาความยินดีนั้นปราชญ์ชาวบ้านผ้าทอมือและจังหวัดได้ร่วมกันพัฒนา “ลายแคนแก่นคูน” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งจังหวัด เพื่อยกระดับงานทอผ้าที่มีอัตลักษณ์ของความเป็น “ขอนแก่น” โดยลายแคนแก่นคูนผูกลาย 7 แบบสื่อถึงความเป็นตัวตนของคนขอนแก่น ประกอบด้วย 1. ลายแคน หมายถึง สัญลักษณ์แทนความเจริญและสนุกสนาน เมืองแห่งหมอแคน 2. ลายดอกคูน หมายถึง สัญลักษณ์ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น 3. ลายพานบายศรี หมายถึง ความมีมิตรภาพ ประเพณีการผูกเสี่ยว และการยินดีต้อนรับผู้มาเยือน 4. ลายขอ หมายถึง การเป็นสัญลักษณ์แทนความอยู่ดีกินดี ความอุดมสมบูรณ์ 5. ลายโคม หมายถึง การสืบทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชาวขอนแก่น 6. ลายกง หมายถึง อาณาเขต บริเวณที่ได้รับการอารักขาให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ตลอดไป และ 7. ลายบักจับหรือหมากจับ หมายถึง ความรัก ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
และเมื่อนึกถึงชุมชนที่ยังคงวิถีชีวิต วัฒนธรรม การทอผ้าไหมมาอย่างยาวนานก็ต้องที่อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่ง อำเภอ“ชนบท”เป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งบ้านหนองกองแก้วเป็นเมืองเมื่อปี 2335 หลังจากชาวลาวหนีเหตุความวุ่นวายจาก แคว้นจำปาสัก เข้ามาตั้งรกรากที่นี่ ชาวลาวนำวัฒนธรรมการปลูกหม่อม เลี้ยงไหม ทอผ้าเข้ามาด้วย โดยมีหลักฐานสำคัญคือ ผ้าไหมมัดหมี่หน้านาง หรือผ้าปูม อายุ กว่า 220 ปี ที่เจ้าเมืองชนบทคนแรกได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โดยทายาทของเจ้าเมืองเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ต่อมาคนชนบทได้นำมาเป็นต้นแบบในการทอผ้าไหมมัดหมี่หน้านาง เอกลักษณ์ของการทอผ้าปูมหรือผ้าหน้านาง มีลักษณะแบบโจงกระเบน ประกอบด้วย ลายมัดหมี่ บริเวณท้องผ้า ลายมัดหมี่หน้านาง และลายมัดหมี่ริมชายผ้าทั้งสองด้าน นอกจากนี้ยังมีลายหมี่กง ลายขันหมากเบ็ง ลายขอพระเทพหรือลายเชิงเทียน โดยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะเป็นการทอผ้าแบบ 3 ตะกอ ทำให้เนื้อผ้าแน่น สม่ำเสมอ มีลักษณะสีและลวดลายของผ้าด้านหนึ่งสีทึบกว่าอีกด้าน สีที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมคือ สีม่วง สีแดง สีเขียว สีเม็ดมะขาม
สำหรับแหล่งซื้อหาผ้าไหมมัดหมี่ที่ขึ้นชื่อของอำเภอชนบทแห่งหนึ่งก็ต้องไปที่กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลปอแดง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น นอกจากเลือกซื้อผ้าไหมแล้ว ยังจะได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบ “Slow Life” เพราะที่นี่เป็นหมู่บ้าน OTOP VILLAGE CHAMPION ( OVC) มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจร และเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการทอผ้าไหม ผ้าไหมมัดหมี่ที่นี่มีชีวิตเพราะมีพัฒนาการลวดลายผ้าไปตามจินตนาการของช่าง โดยนำลวดลายโบราณ มาดัดแปลง เติมสีสัน เกิดเป็นลวดลายใหม่ๆ และใช้เทคนิควิธีการใหม่ คือ “การแต้มหมี่” โดยใช้พู่กันจุ่มสีแต้มบนเส้นไหมใช้สีรีแอคทีฟชนิดระบายบนโฮงมัดหมี่ทุกสีพร้อมกันในครั้งเดียวแทนการมัดหมี่แบบเดิมร่วมกับขั้นตอนการแช่สารกันสีตก ช่วยลดระยะเวลาในการผลิตผ้าไหมทอมือลายมัดหมี่โดยยังใช้อุปกรณ์เดิมโดยลวดลายที่เหมาะสมสำหรับเทคนิคนี้เป็นลายที่มีขนาดใหญ่
อีกสถานที่หนึ่งที่อยากแนะนำให้ไปชมคือ ศาลาไหมไทย หรือ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา มหาราชินี ตั้งอยู่บริเวณวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น เป็นศูนย์อนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน ภายในอาคารจัดแสดงกรรมวิธีการผลิตตั้งแต่มัดย้อมจนถึงวิธีการทอ อุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับไหมและของเก่าแก่ที่ควรอนุรักษ์รวมถึงผ้าไหมมัดหมี่โบราณลวดลายต่างๆ รวมทั้งจัดแสดงผ้าไหมมัดหมี่ที่แพงที่สุดในโลก ฝีมือชาวอำเภอชนบทและเคยชนะการประกวดผ้าไหมของเอเชีย
ศาลาไหมไทย เปิดให้เข้าชมทุกวันในเวลาราชการ สอบถามการเข้าชมได้ที่วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น โทร. 043286160
Comments